อยากให้เด็ก ‘คิด’ เป็น แต่ไม่เคยสอนให้ ‘ฟัง’ เป็น

  • การ ‘ฟัง‘ ใครๆ ก็คิดว่าเด็กๆ ฟังกันเป็นอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องฝึกฟัง มุ่งหน้าสู่การฝึก ‘คิด วิเคราะห์ แยกแยะ’ จะดีกว่า
  • แต่ถ้าไม่ฟังอย่างเข้าใจ แล้วจะเอาอะไรไป คิด วิเคราะห์ แยกแยะ
  • ถ้าบอกว่าการฟังเป็นทักษะที่ทุกคนมีเหมือนกัน แต่ทำไมแม้กับผู้ใหญ่ หลายครั้งก็ฟังไม่เป็น

 

       เวลาพูดถึงทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ คนส่วนใหญ่พูดถึง ‘ทักษะการคิด’ เพื่อวิเคราะห์และประมวลผล หลักฐานคือข้อสอบส่วนใหญ่มุ่งออกแบบให้เด็กๆ ได้ตอบคำถามซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นสอบพูด หรือเขียนบรรยาย การจัดทัพพัฒนาการสอนของครูก็มุ่งเป้าไปที่วิธีการนี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนหนึ่งคิดคล้ายกันว่า “ก็เด็กๆ ‘ฟัง’ เป็นอยู่แล้ว”

แต่ดอนนา วิลสัน (Donna Wilson) นักพูด นักเขียน นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทสมองที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษากลับไม่เห็นด้วย เธอเขียนบทความเรื่อง Training the Brain to Listen: A Practical Strategy for Student Learning and Classroom Management (ฝึกสมองเพื่อการฟัง: กลยุทธ์ที่ใช้ได้จริงสำหรับพัฒนาการเรียนรู้และการจัดการห้องเรียน) เธออธิบายว่า…

การ ‘ฟัง’ ที่มีคุณภาพไม่ใช่แค่ฟังเพื่อได้ยินและโต้ตอบ แต่คือ ‘ทักษะ’ ที่ต้องฝึกฝน เด็กๆ จะคิดได้อย่างไรถ้าพวกเขาฟังไม่เป็น ไม่ใช่แค่ฟังคนอื่น แต่ฟังเสียงในหัวของตัวเอง เพื่อรับรู้และใคร่ครวญ หรือที่เรียกว่า self-talk ด้วย

และใช่หรือไม่ว่า ไม่ใช่แค่เด็กที่ไม่เคยถูกสอนให้ฟัง แม้แต่กับผู้ใหญ่ หลายครั้งก็ฟังไม่เป็น

วิทยาศาสตร์แห่ง ‘การฟัง’

กระบวนการรับสารและตีความจากเสียง เช่น ความหมายของคำ ความรู้สึกต่อเสียงใดเสียงหนึ่ง จะเกิดขึ้นในศูนย์การได้ยิน (auditory cortex) เป็นส่วนหนึ่งของเปลือกสมองหรือซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ (Cerebral cortex) ตั้งอยู่เหนือกลีบขมับสมอง (Temporal lobes) ทั้งสองข้าง

หน้าที่ของศูนย์การได้ยินคือ เป็นหน่วยรับสัญญาณจากหูและส่งสัญญาณนั้นไปที่ซีรีบรัล คอร์เท็กซ์เพื่อแปลงสัญญาณนั้นเป็นความหมายอีกที กระบวนการนี้ถูกพัฒนาทุกวันนับแต่ทารก เพื่อแปลงความหมายคำศัพท์ ไปจนถึงตีความ เราจะให้ความหมายกับเสียงเหล่านี้อย่างไร

แม้เราจะเคยชินกับการตีความเสียง ขณะเดียวกัน เสียงทำให้เราเสียสมาธิ (รำคาญ) ได้เช่นกัน

โดยเฉพาะห้องเรียน ที่เต็มไปด้วยกองทัพเพื่อนนักเรียน ไม่ว่าจะเป็น เสียงจากครูทั้งในห้องและนอกห้อง เสียงประตูเปิด เพื่อนข้างหลังจีบกัน เสียงครูใหญ่บ่นออกลำโพง เสียงออดบอกเวลา เสียงรถราจากนอกหน้าต่าง เสียงเครื่องบินบนน่านฟ้า เสียงทำถนนที่ไกลออกไป และอื่นๆ อีกมาก ทั้งหมดเกิดขึ้นผสมปนเปกันในช่วงเวลาเดียว

แม้ศูนย์การได้ยินจะบล็อกเสียงเหล่านั้นออกไปได้ (ในเวลาที่เรามีสมาธิมากๆ) แต่เสียงเหล่านั้นก่อกวน เจาะลูกโป่งสมาธิเราได้ทุกเมื่อ

ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เสียงจากภายนอก แต่เสียงจากภายใน (หัว) ทั้งความคิดแบบ ‘ฝันกลางวัน’ หรือ เสียงทบทวน ขัดแย้ง งัดข้อ กับสิ่งที่กำลังเรียนบนกระดาน นั่นก็เป็นเสียงที่ก่อกวนเส้นสมาธิได้อยู่ดี

HEAR strategy กลยุทธ์ฝึกฟัง by โค้ช วิลสัน

แม้วิลสันจะเขียนบทความนี้ในปี 2014 แต่วิธีของเธอยังถูกอ้างถึงโดยทั่วไปในบทความวิชาการด้านการศึกษาอยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็คือ ‘HEAR strategy’ วิเคราะห์ ‘ทำไม’ และ ‘อย่างไร’ กลยุทธ์ HEAR นี้จึงสำคัญ ฮาวทูง่ายๆ ให้ครูนำไปฝึกให้นักเรียน ‘ฟัง’ ให้เป็น

และย้ำว่า นี่ไม่ใช่เทคนิคการฟังที่ถูกต้องกว่าการฟังแบบอื่น วิธีนี้เป็นหนึ่งในเทคนิคการฟังเพื่อเรียนรู้ในห้อง แค่ย้ำให้นักเรียนรู้ว่า พวกเขาสามารถเลือกหยิบวิธีฟังนี้ไปปรับใช้กับช่วงเวลาที่เหมาะควร

 

  • Halt: หยุดทุกการกระทำของคุณชั่วคราว รวมทั้งหยุดความคิดวุ่นวายในหัว เปิดใจกว้าง มุ่งสมาธิไปที่คนพูดตรงหน้า
  • Engage: โฟกัสที่คนพูด ไม่ใช่แค่สายตา แต่ปรับร่างกายของเราหันเข้าหาคนพูด อาจเอียงหน้าเล็กน้อย ให้หูด้านขวาของเราเอียงไปทางคนพูด นอกจากจะทำให้ได้ยินชัดขึ้น ยังทำให้คนฟังผ่อนคลายและรู้สึกถูกรับฟัง
  • Anticipate: อาจลองทำนายว่าคนพูดรู้สึกอะไร กำลังจะเล่าอะไรต่อไป จะช่วยทำให้เราเกาะติดกับเรื่องตรงหน้า
  • Replay: คิดตามสิ่งที่คนพูด พูดออกมา วิเคราะห์และถอดความ เพื่อนำไปหารือถกเถียงกับคนพูดหรือเพื่อนร่วมห้อง วิธีนี้จะเป็นการทบทวนสิ่งที่ได้ฟังมาไปโดยปริยาย

ขอบคุณข้อมูลจาก thepotential.org