ในชั้นเรียนรวมทั่ว ๆ ไป  จะมีเด็กที่มีความสามารถทางการเรียน  ลักษณะนิสัย  อารมณ์  และการแสดงออกของพฤติกรรมต่างกัน  ครูส่วนใหญ่ยอมรับว่าเด็กที่มีพฤติกรรมรบกวนชั้นเรียน  หรือพฤติกรรมที่ครูรู้สึกว่าเป็นปัญหาในชั้นเรียนอย่างน้อยหนึ่งคนในแต่ละห้อง  ครูจะต้องจัดการชั้นเรียนและแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในชั้นเรียนของตนเป็นปกติอยู่แล้ว  เมื่อมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมอยู่ด้วยครูจะกังวลเพิ่มขึ้น  กลัวว่าจะพบปัญหาที่จะต้องแก้ไขมากขึ้น  แม้ว่าในหลายกรณีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในชั้นเรียนไม่ได้เกิดจากเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่เข้าไปเรียนก็ตาม

ปัญหาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษในชั้นเรียนรวม

        พฤติกรรมที่เป็นปัญหาในชั้นเรียนทั่วไป  ตั้งแต่ชั้นเรียนระดับอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นมะยมศึกษา  ในชั้นเด็กเล็กๆ  อาจพบปัญหาเกี่ยวกับการกิน  การนอน  ไม่เชื่อฟัง  เจ้าอารมณ์   อยู่ไม่นิ่ง  ไม่มีสมาธิ  พูดไม่ชัด  ไม่พูด  เป็นต้น  ในระดับประถมศึกษา  ได้แก่  พฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ปฏิบัติตามกติกา  ซึมเศร้า  วิตกกังวล  เครียด  ก่อกวน  พูดปด  ไม่สนใจการเรียน  ไม่ชอบเรียน  ในระดับมัธยมศึกษา  จะมีปัญหาทางอารมณ์  พฤติกรรมต่อต้าน  และผิดกฎระเบียบเพิ่มขึ้นจากปัญหาพฤติกรรมในระดับประถมศึกษา

ลักษณะของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

       พฤติกรรมที่ครุสังเกตเห็นได้ง่าย  และรู้สึกว่าเป็นปัญหามากกว่าพฤติกรรมอื่น ๆ  คือ  ลักษณะทางอารมณ์รุนแรง  พฤติกรรมก่อกวน  อยู่ไม่นิ่ง  พฤติกรรมหลายอย่างที่มองเห็นไม่ชัดเจน  ต้องใช้เวลาในการสังเกต  อาจจะเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา  เช่น  เด็กเงียบเฉย  แยกตัว  เก็บกดอารมณ์  แต่พฤติกรรมบางอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหา  ก็อาจจะไม่ใช่พฤติกรรมที่เป็นปัญหาที่แท้จริง  การจะบอกว่าพฤติกรรมเป็นปัญหาหรือไม่  อาจตีความได้ต่างกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก  เช่น  แพทย์  นักจิตวิทยา  ผู้ปกครอง  และครุ  โดยเฉพาะครุกับพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กในโรงเรียนมากที่สุด  อาจมองว่าพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งเป็นปัญหา  หรือสาเหตุของปัญหาคืออะไรได้แตกต่างกัน  จึงต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเป็นเบื้องต้น

 

วิธีการจัดการพฤติกรรมเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

                ขอเน้นว่าไม่มีวิธีการเฉพะหรือวิธีการพิเศษใด ๆ สำหรับแก้ปัญหาทางพฤติกรรมของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ วิธีการที่ใช้คือวิธีการเดียวกันกับการจัดพฤติกรรมของเด็กทั่วไป

การจัดพฤติกรรมอาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ

          ระดับที่ 1 การป้องกันพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในชั้นเรียน โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็ก ให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อครู ต่อห้องเรียน ต่อการเรียน เป็นวิธีการที่ต้องจัดการเป็นอันอับแรกซึ่งครูจะทำไปพร้อมกับกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนรวมทั้งชั้น

              ระดับที่ 2 การคิดหาวิธีการแก้ปัญหา หรือจัดการพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เมื่อเด็กคนใดมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเกิดขึ้น ครูจะต้องสามารถจัดการให้เด็กเรียนรู้ใหม่ เกิดพฤติกรรมใหม่ที่ดีกว่าเดิม และถ้าเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าที่เป็นผลเสีย หรือเห็นอันตราย ครูจะสามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเด็กและคนอื่น ๆ หรือเกิดผลเสียน้อยที่สุด

          ระดับที่ 3 การใช้วิธีจัดการพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นปัญหา โดยการลดพฤติกรมที่ไม่พึงประสงค์ลง และเพิ่มพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นอย่างถาวร

                การจัดการพฤติกรรมที่กล่าวเหล่านี้ไม่สามารถแบ่งเป็นระดับได้ชัดเจน พฤติกรรมบางอย่างของเด็กบางคนอาจป้องกันหรือจัดการได้จากวิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กและการจัดการชั้นเรียนที่ดีในห้องเรียน และพฤติกรรมหลายประการต้องอาศัยการจัดพฤติกรรมเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ครูจำเป็นต้องมีความสามารถในการจัดการพฤติกรรมโดยวิธีการทั้ง 3 ระดับไปพร้อมกัน

 

 ข้อควรคำนึงก่อนการจัดพฤติกรรม

            สิ่งที่ครูทุกคนควรรู้และเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กในชั้นเรียนรวมมีหลายประการต่อไปนี้

ครูต้องมีข้อมูลเด็กทุกคน รู้ว่าเด็กคนใดมีความบกพร่อง ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในลักษณะใดบ้าง การจัดการพฤติกรรม ปัญหาคือ พฤติกรรมไม่ใช่ เด็กเป็นปัญหา การคิดเช่นนี้จะช่วยให้การจัดการพฤติกรรมตรงประเด็น ศึกษาว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนเป็นผลมาจากความบกพร่องเฉพาะตัวของเด็กหรือเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมหรือมาจากตัวครู พฤติกรรมที่ครูคิดว่าเป็นปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับการจัดหลักสูตร เนื้อหาในการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมในห้องเรียนเป็นเบื้องต้น พฤติกรรมของเด็กสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยใช้วิธีการสร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้น และใช้วิธีการทางบวกในการแก้ปัญหา

      การจัดการชั้นเรียนโดยวิธีการที่กล่าวมานี้ จะสามารถลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหลายประการลง และจะป้องกันพฤติกรรมที่เป็นปัญหาจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นในชั้นเรียนที่ครูอาจควบคุมไม่ได้ การจัดการชั้นเรียนเป็นสิ่งที่ครูทำควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลาในชั้นเรียน

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก oknation