ลูกที่เป็นสมาธิสั้น มักจะไม่ค่อยสนใจฟังว่าจะให้ทำอะไรบ้าง จนไม่สามารถทำได้เสร็จหรือครบตามที่บอก และถูกลงโทษในที่สุด ปัญหาเรื่องการสื่อสารจึงเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กสมาธิสั้น

หลักในการพูดคุยสื่อสารกับลูกที่เป็นสมาธิสั้น ควรสังเกตว่าลูกอยู่ในภาวะที่พร้อม หรือมีสมาธิ ที่จะให้ความสนใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ กำลังจะพูดอยู่หรือไม่ ควรมีภาษาท่าทาง และการสัมผัสร่วมไปด้วยกับการพูดคุย เช่น การแตะไหล่ สัมผัสมือ เพื่อให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เรากำลังพูดมากขึ้น แทนการบอกปากเปล่าอย่างเดียว ซึ่งลูกอาจตอบว่าครับ แต่ไม่รู้ว่าให้ทำอะไร เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง ถ้าไม่แน่ใจว่าลูกฟังสิ่งที่เราบอกหรือไม่ ให้เขาลองทบทวนให้ฟังอีกครั้งว่าเราบอกอะไร

ควรพูดกับลูกโดยใช้คำพูดที่กระชับ ได้ใจความชัดเจน หากลูกกำลังเหม่อ วอกแวก หรือไม่สนใจ ควรเรียกหรือแตะตัวอย่างนุ่มนวลให้เด็กรู้สึกตัว และหันมาสนใจเสียก่อน จึงค่อยพูดคุยกับเด็ก

ในบางครั้งเพียงใช้การบอก เรียก หรืออธิบายอย่างเดียว ลูกอาจไม่ฟังหรือไม่ทำตาม ควรเข้าไปหาลูกและใช้การกระทำร่วมด้วย เช่น จูงลูกให้ไปทำการบ้าน จะได้ผลดีกว่าเรียกอย่างเดียว ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการฝึกให้ลูกรับฟังและปฏิบัติตามผู้ใหญ่ได้ดีขึ้นในเวลาต่อมา

ในกรณีที่มีหลายอย่างให้ลูกทำ ควรบอกทีละอย่าง ให้เสร็จทีละอย่าง แล้วค่อยบอกสิ่งที่จะให้ทำต่อไป อย่าบอกทีเดียวหลายๆอย่าง เพราะลูกอาจฟังได้ไม่ครบและไม่ได้ทำในที่สุด ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน ควรมีการเข้าไปติดตาม คอยแนะนำและให้กำลังใจเป็นระยะ แต่ไม่ใช่เข้าไปจับผิด

ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถสื่อสารกับลูกที่เป็นสมาธิสั้นได้ถูกวิธี ลูกก็จะสามารถทำตามสิ่งที่บอกได้มากขึ้น และช่วยลดความขัดแย้งลงได้มาก ไม่ทำให้หงุดหงิด รำคาญใจ

สิ่งที่อยากฝากไว้คือ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คิดไว้ก่อนเสมอว่า การที่ลูกไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราบอก อาจเป็นเพราะเขาไม่มีสมาธิฟังสิ่งที่เราบอก จึงไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ดังนั้นควรมาปรับเปลี่ยนที่วิธีการสื่อสารกับลูกก่อน ก่อนที่จะไปตำหนิเขา

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.happyhomeclinic.com