อาหารบางอย่าง ขัดขวางการรักษาโรคซึมเศร้า

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ระบุว่า ฝ่ายเชี่ยวชาญของรพ.จิตเวชฯ วิเคราะห์ประเภทอาหารที่เป็นผลดีและเป็นผลเสียต่อโรคซึมเศร้า และยาที่ใช้รักษาอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะฟื้นฟูอยู่ที่บ้าน และขณะนี้มีการโฆษณาอาหารต่างๆผ่านทางสื่อจำนวนมาก อาหารบางอย่างอาจมีสารที่มีผลขัดขวางกับฤทธิ์ยารักษาโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงควรให้ความสำคัญกับอาหารที่รับประทาน เพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนใดๆ ซ้ำเติมผู้ป่วยอีก

 

อาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้าห้ามรับประทาน

สำหรับกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้าห้ามรับประทาน เนื่องจากจะซ้ำเติมอาการป่วยหรือขัดขวางการดูดซึมยาที่รักษามี 2 ประเภท และเครื่องดื่มอีก 3 ชนิด  

ประเภทอาหาร ได้แก่

- อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด เนื่องจากอาหารที่มีน้ำตาลสูง ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด หากเผชิญเป็นประจำอาจจะนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้

- อาหารประเภทไส้กรอก และถั่วปากอ้า ซึ่งมีสารไทรามีนสูง สามารถทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาเซเลจิลีน (Selegiline) จะส่งผลให้มีสภาวะความดันโลหิตสูงได้

 

เครื่องดื่ม 3 ชนิด ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ควรดื่มเป็นอย่างยิ่ง คือ

- ชา-กาแฟ เนื่องจากมีปริมาณคาเฟอีนสูง ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากดื่มเกินกว่า 2 แก้วต่อวัน จะทำให้ปริมาณคาเฟอีนในร่างกายสูง ทำให้วิตกกังวล ใจสั่นและเครียดเพิ่มขึ้น

- น้ำอัดลม โดยเฉพาะน้ำอัดลมประเภทสีดำ เนื่องจากมีทั้งปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลสูง รวมทั้งน้ำอัดลมประเภทสีดำและไดเอต มีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 4 กระป๋อง หรือ 4 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติ 3 เท่า ผู้ป่วยซึมเศร้าจึงควรเลี่ยงดื่มจะดีที่สุด

- น้ำผลไม้บางชนิด เช่น น้ำในตระกูลส้ม เสาวรส น้ำองุ่นหรือเกรฟฟรุต เป็นต้น อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษา ทำให้ตัวยาไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการรักษาเท่าที่ควร

 

      นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 1.4 ล้านคน เฉพาะที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งอยู่ในความดูแลของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ยอดรวมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 เข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 66 จึงขอให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าที่ยังไม่เข้ารักษาตัวซึ่งมีประมาณร้อยละ 30-40 อย่าอายหมอ ขอให้รีบไปรักษาที่รพ.ที่อยู่ใกล้บ้านทุกแห่ง จะได้หายจากความทุกข์ทรมาน

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.sanook.com