ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมานิโตบา ประเทศแคนาดาชี้ว่า เด็กที่ถูกลงโทษด้วยการตีอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาทางจิตได้ในอนาคตโดยอาจเป็นได้ตั้งแต่ความแปรปรวนทางอารมณ์เรื่อยไปจนถึงการดื่มเหล้าและใช้ยาเสพติด

            นางเทรซี อาฟีฟี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยมานิโตบา ประเทศแคนาดา ระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการลงโทษทางร่างกายที่เกิดขึ้นในอดีตกับอาการจิตผิดปกติที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยผลการวิจัยชี้ว่า 2-7% ของผู้ที่มีอาการจิตผิดปกติในงานวิจัยชิ้นนี้มีความเชื่อมโยงกับการลงโทษทางร่างกายในวัยเด็ก

          ทั้งนี้ ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีประวัติการเข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตในสหรัฐอเมริกาจำนวน 35,000คน เก็บข้อมูลระหว่างปี 2547-2548 ที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่มีอายุเกิน 20 ปี จำนวน 1,300 คน ระบุว่าเคยมีประสบการณ์ถูกผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ในบ้านลงโทษทางร่างกายไม่ว่าจะเป็นการผลัก บีบ ตบหรือตี

          อย่างไรก็ตาม ยังคงมีนักวิจัยด้านครอบครัวที่มีความเห็นที่แตกต่างไป โดยนายโรเบิร์ต ลาเซเลเร จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกา ระบุว่าการลงโทษด้วยการตีก้นนั้นสามารถนำมาใช้ได้ หากใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้เด็กสามารถรับรู้ได้ว่าการลงโทษนั้นเป็นผลมาจากความห่วงใยในพฤติกรรมและความปลอดภัยของตัวเด็กเอง ทั้งนี้ นายลาเซเลเรเป็นผู้ที่เคยมีผลงานวิจัยในปี 2548 ซึ่งชี้ว่าการใช้การลงโทษด้วยการตีก้นมาสนับสนุนการใช้กฎที่ไม่ใช้ความรุนแรงสามารถช่วยลดพฤติกรรมการต่อต้านสังคมได้ในอนาคต

 

ข้อมูล : มติชน

อ่านเทคนิคจิตวิทยาการเลี้ยงลูกต่อได้ที่ https://bit.ly/2K05Hxj