1. แม่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง คุณแม่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังนิยมดูแลครอบครัวด้วยตัวเอง จะเห็นได้จากเมื่อสาวญี่ปุ่นแต่งงานและมีลูกก็จะลาออกจากการทำงานเพื่อมาดูแลครอบครัว เมื่อแม่ต้องเลี้ยงลูกและต้องดูแลงานบ้านไปด้วย ลูกน้อยก็จะได้อยู่กับแม่ตลอดเวลา เห็นการดำเนินชีวิต ทั้งคลานทั้งเดินตามแม่ไปรอบบ้าน ไม่ว่าแม่จะซักผ้า ตากผ้า ทำอาหาร ล้างจาน ลูกได้ดูผ่านตา เกิดการจดจำและเรียนรู้ แบบที่ทฤษฎีบอกเสมอว่า เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านการมองเห็น ได้ยิน จดจำ และเลียนแบบ เมื่อเด็กน้อยโตในระดับที่ควบคุมความเคลื่อนไหวของตัวเองได้พอสมควร คราวนี้แม่ทำอะไร ลูกน้อยก็จะขอเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยคุณแม่หยิบนู่น จับนี่ได้ค่ะ

2. ฝึกลูกให้รู้จักพึ่งพาตนเอง ส่วนใหญ่เป้าหมายในการเลี้ยงลูกของชาวญี่ปุ่นคือ “ให้โตขึ้นแล้วเอาตัวเองรอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ตลอดไป” คนญี่ปุ่นจึงเลี้ยงลูกแบบไม่ประคบประหงมและฝึกให้เด็กพึ่งพาตัวเองได้ เด็กญี่ปุ่นส่วนมากเมื่ออายุได้ 2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่จะลองปล่อยให้ลูกน้อยได้ช่วยเหลือตัวเองเท่าที่จะทำได้โดยดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ให้ลองใส่เสื้อผ้าเอง ตักข้าวกินเอง ขับถ่าย แปรงฟันเอง ติดกระดุม ฯลฯ เมื่อลูกๆ ทำได้จะได้รับคำชมเชย แต่ก็จะไม่เร่งรัดจนเกินไปค่ะ

3. ให้ลูกใช้การเดินเป็นหลัก เด็กญี่ปุ่นทุกคนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาขึ้นไปต้องทางไปโรงเรียนเองไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นวันฝนตกหนัก พายุเข้าหรือหิมะตก แม้ว่ามีรถยนต์แต่ผู้ปกครองไม่นำรถยนต์มาใช้หากไม่จำเป็น เพื่อสอนลูกรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเจอในแต่ละวันด้วยตัวเอง ความตรงต่อเวลา และสร้างความรับผิดชอบ ซึ่งจะส่งผลดีกับชีวิตการทำงานในอนาคต

4. สอนลูกทีละน้อยแต่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมดาของเด็กๆ ที่คงยังทำงานยากๆ ไม่ได้ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกงานที่เหมาะ และไม่ยากเกินความสามารถของสอนลูก โดยทำเป็นตัวอย่างและอธิบายวิธีทำไปทีละขั้นตอนให้ชัดเจน ช่วงที่เพิ่งเริ่มต้น คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ใกล้ๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือเมื่อเกิดติดขัด และควรแบ่งงานเป็นส่วนเล็กๆ แล้วให้ลูกทำทีละน้อย จัดให้ทำทีละส่วน เพื่อให้ลูกทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น ไม่รู้สึกเบื่อจนเลิกทำไปเสียก่อน คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีชวนลูกเล่นแข่งเก็บของเล่นใส่กล่อง หรือเกมพาน้องตุ๊กตากลับบ้าน (เก็บตุ๊กตาเข้าที่) แล้วบอกลูกว่า น้องตุ๊กตาเขาก็อยากไปนอนที่บ้านของเขาแล้วเหมือนกัน หรือพออยู่ในกล่องของเล่นของหนูจะได้อยู่ด้วยกัน ไม่หายไปไหนไง วิธีนี้ก็จะช่วยให้ลูกยินดีที่จะทำงานนี้มากขึ้นค่ะ

5. ย้ำเตือนหากหลงลืม ถึงคุณพ่อคุณแม่จะตั้งใจ พยายามทำตามขั้นตอนทุกอย่างแล้วก็ตาม แต่ก็อย่าเพิ่งคาดหวังว่าลูกจะต้องทำหรือทำดีอย่างที่คุณสอนทุกครั้ง เด็กๆ อาจจะหลงลืมทำหน้าที่ของตัวเองหรือทำไม่เรียบร้อยอย่างที่เคยเป็นก็ได้ อธิบายขั้นตอนการทำงานนั้นอีกครั้ง และไม่ควรแก้ไขด้วยการบ่นว่าหรือตำหนิลูก เพราะนั่นจะทำลูกรู้สึกเบื่องานบ้านและคุณพ่อคุณแม่(ขี้บ่น)ได้ ต่อไปก็จะไม่สนใจฟัง ทางที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูดดีๆ กับลูก เพื่อชักชวนให้เจ้าตัวเล็กมาทำกิจกรรมนี้ด้วยกันกับคุณอย่างเต็มใจจะดีกว่าค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูล pradended.com