เคยได้ยินคำว่า  การศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) กันไหมครับ คำนี้เป็นปรัชญาการศึกษาที่องค์การยูเนสโกใช้ขับเคลื่อนระดับนานาชาติ ในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกวัยในแต่ละประเทศให้มีสิทธิในการได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงโดยไม่แบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกขององค์การยูเนสโกก็ได้ดำเนินการพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าว เช่น มีการจัดทำระบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบ จัดให้มีนโยบายเรียนดี เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ และมีระบบกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น

 

จากนโยบายนี้ ทำให้โรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่ต้องเปิดรับเด็กในแต่ละชั้นโดยต้องไม่มีระบบคัดสรร ซึ่งในแง่ดีถือว่าเป็นแนวทางที่ช่วยให้เกิดความเท่าเทียมกันในระบบการศึกษา แต่การที่ต้องรับเด็กโดยไม่ผ่านระบบคัดกรองนี้ ทำให้เกิดผลกระทบในระบบการศึกษาไทย เพราะความแตกต่างในพื้นฐานความรู้ของผู้เรียนทำให้การจัดการเรียนการสอนของครูนั้นทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเทคนิคที่ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวคือแนวจัดการศึกษาที่เรียกว่า การศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education)

การศึกษาแบบเรียนรวม หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่ง ว่า การเรียนร่วม หมายถึง การบริหารจัดการศึกษาให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามวัยอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล โดยยึดหลักการไม่แบ่งแยกเด็กจากความบกพร่องหรือระดับพื้นฐานความรู้ ซึ่งลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมที่เป็นข้อแตกต่างจากรูปแบบการจัดการศึกษาตามปกตินั้น ได้แก่

      1. เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

      2. เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนพร้อมกัน

     3. โรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทุกด้านเพื่อให้สามารถสอนเด็กได้ทุกคน

     4. โรงเรียนจะต้องให้บริการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นนอกเหนือจากเด็กปกติทุกคน

 

      5. โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนปกติทั่วไปโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด

ถ้าสังเกตจากลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม จะเห็นได้ว่า การบริหารทรัพยากรในโรงเรียนถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจำเป็นต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กทุกคน ทั้งที่เป็นเด็กปกติ และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สามารถเรียนร่วมกันได้ในชั้นเรียนเดียวกัน ซึ่งถือเป็นหัวใจของระบบการศึกษาแนวนี้

สำหรับรูปแบบของการเรียนรวมนั้น มีหลากหลายแบบ ตามความจำเป็นของผู้เรียนและความพร้อมของสถานศึกษา ซึ่งแบ่งคราวๆ ออกเป็น 6 รูปแบบ อันได้แก่

        1. ชั้นเรียนปกติเต็มเวลา เป็นรูปแบบเป้าหมายที่คาดหวังให้เกิดขึ้นในการเรียนรวม คือ เด็กทุกคนแม้จะมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากพื้นฐานที่ไม่แน่น หรือเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ก็ต้องสามารถเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียนเดียวกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะเป็นเด็กที่ไม่มีปัญหามากนั้น หรือได้รับการประเมินแล้วว่าสามารถเรียนรู้ได้ตามปกติ

        2. ชั้นเรียนปกติเต็มเวลาและบริการให้คำปรึกษา เป็นรูปแบบของการเรียนร่วมกันในชั้นเรียนตามปกติ แต่เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะอยู่ในความดูแลของครูการศึกษาพิเศษ หรือนักจิตวิทยาในโรงเรียน

    3. ชั้นเรียนปกติเต็มเวลาและบริการครูเดินสอน เป็นรูปแบบของการเรียนร่วมกันในชั้นเรียนตามปกติ โดยมีครูหรือวิทยากรที่เชี่ยวชาญมามาสอนและให้คำแนะนำกับครูประจำชั้น

        4. ชั้นเรียนปกติเต็มเวลาและการสอนเสริมนอกเวลา เป็นรูปแบบของการเรียนร่วมกันในชั้นเรียนตามปกติ และเพิ่มเติมการสอนเสริมนอกเวลาตามความจำเป็นของเด็ก ซึ่งมีทั้งแบบกลุ่มและรายบุคคล

        5. ชั้นเรียนพิเศษควบคู่ชั้นเรียนปกติ เป็นรูปแบบที่มีการแยกชั้นเรียนพิเศษกับชั้นเรียนปกติในบางวิชา ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในวิชาหลักที่สำคัญ

        6. ชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติ เป็นการแยกชั้นเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ออกจากชั้นเรียนปกติโดยสิ้นเชิง เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่ในโรงเรียนที่มีชั้นเรียนแบบนี้ จะเป็นโรงเรียนที่มีเด็กพิเศษที่มีปัญหาหรืออุปสรรคต่อการเรียนรู้ค่อนข้างมาก

จะเห็นได้ว่าทั้ง 6 รูปแบบนี้ แบบที่ 1 ถือเป็นเป้าหมายหลักที่อยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะถึงว่าเป็นการเรียนรวมที่สมบูรณ์ แต่นั่นก็ต้องคำนึงถึงสภาพความพร้อมของเด็กว่าจะเหมาะสมกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใด และเมื่อเราได้รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมแล้ว สำหรับเทคนิคในการส่งเสริมเด็กในชั้นเรียนร่วมนั้น ผมคิดว่า 9 ข้อนี้คือเทคนิคที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการเริ่มต้นชั้นเรียนรวม

 

      1. เริ่มต้นจากการปรับทัศนคติของครู โดยต้องมีความเชื่อที่ว่าเด็กทุกคนแม้แตกต่างกันแต่แต่ทุกคนนั้นสามารถพัฒนาได้ปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาเด็ก โดยเริ่มจากเรื่องที่เด็กมีประสบการณ์เดิม เรื่องที่ง่ายและเรื่องที่ใกล้ตัวเด็กก่อน

         2. ปรับสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้สำหรับเด็กทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม

  3. ใช้การเสริมแรงเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยจะต้องให้อย่างเป็นระบบคือให้ทันทีที่เด็กแสดงพฤติกรรม และควรให้เป็นครั้งคราว เพื่อให้พฤติกรรมที่นั้นคงทน

      4. ให้เด็กที่เข้าใจในเนื้อหาการเรียนรู้แล้วสอนช่วยสอนหรือแนะนำเพื่อนที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งการที่เด็กช่วยแนะนำกันจะมีแนวโน้มทำให้เด็กที่ไม่เข้าใจพัฒนาตามเด็กที่เข้าใจในเนื้อหาได้

        5. เปิดโอกาสให้เด็กๆ มีสิทธิเลือกทำกิจกรรมตามความสนใจก่อนและหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กชอบและช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ่น

        6. ไม่ควรว่ากล่าวติเตียนในข้อผิดพลาดของเด็กที่เกิดขึ้น และพยายามกระตุ้นให้เขาทำมันใหม่อีกครั้ง

        7. สังเกตพฤติกรรมของเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขเท่าที่เป็นไปได้

        8. ใช้กิจกรรมที่ครูสามารถประเมินผลให้เด็กทราบได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้เด็กมีความกระตือรือร้นในการเรียน
 

 

จะเห็นได้ว่า 9 ข้อที่ผมยกมานั้น ไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงเกินไปนัก ในการจะส่งเสริมให้เด็กที่มีข้อแตกต่างด้านการรับรู้ สามารถที่จะมาเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียนด้วยกันได้ แต่อย่างไรก็ดี เราก็ยังจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมตามศักยภาพและความพร้อมของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อเ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ว่า การศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) อย่างแท้จริง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.trueplookpanya.com